ประวัติวัดท่ากระือ


    วัดท่ากระบือ ตั้งอยู่ที่  ตำบลบางยาง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร วัดท่ากระบือนี้ไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดเกี่ยวกับการสร้างวัด ประมาณว่าสร้างขึ้นในราว พ.ศ.๒๔๓๙ เดิมทีเริ่มเป็นวัดเล็ก ๆ มีพระผู้เฒ่าเป็นเจ้าสำนักดูแลวัดมา ชาวบ้านเรียกว่า วัดท่าควายเนื่องจากชาวบ้านนำควายข้ามไปมาที่หน้าวัด เพราะว่าวัดอยู่กับแม่น้ำท่าจีน พ่อค้าหรือชาวนา ได้นำควายมาเพื่อค้าขายบ้าง ทำนาบ้าง ต่อมา พ.ศ. ๒๔๔๑ พระเดชพระคุณท่านเจ้า พระคุณพระไพโรจน์วุฒาจารย์ ได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ากระบือ ท่านได้ก่อสร้างวัด พัฒนาวัดมีเสนาสนะต่าง ๆ เช่น พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิ เป็นต้น กล่าวได้ว่า ท่านเป็นองค์ริเริ่มสร้างสรรค์ พัฒนาวัดท่ากระบือให้เป็นวัดที่สมบูรณ์พร้อมทุกอย่างในสมัยนั้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ พระเดชพระคุณได้มรณภาพลง พ.ศ. ๒๕๐๑ พระครูสาครบุญวัฒน์ (หลวงพ่อหยัด กตปูญโญ) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสแทนต่อมาจนถึงปัจจุบันคือ พระครูศิริสาครธรรม (จำนงค์ คุณงโค)

      ภายในวัดจะพบกับอาคารไม้เก่าหลายจุดที่ทางวัดกำลังทำการบูรณะอยู่ อาทิเช่น ศาลาการเปรียญ ที่สร้างเมื่อปีพ.ศ. 2462 ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยยกพื้นสูง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง มีชายคาปีกนกโดยรอบ  ศาลาไม้ทรงจตุรมุข เป็นศาลาไม้ ทรงจตุรมุข ด้านล่างโปร่ง หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้อง บริเวณหน้าบัน ชายคา และไม้คอสอง ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย , อาคารเรียนที่ทางวัดปิดไว้เพื่ออนุรักษ์

    พระเกจิที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักเลื่อมใสของทางวัดก็คือ พระไพโรจน์ วุฒาจารย์ ติสสโรมหาเถระ (หลวงพ่อรุ่ง) เกจิอาจารย์แห่งยุคสงครามอินโดจีน ศักดิ์สิทธิ์เรืองเวทย์วิทยาคม จนได้ฉายาเทพเจ้าแห่งลุ่มแม่น้ำท่าจีน

    สิ่งพิเศษเป็นที่เล่าขานกันมาก คือ พลวงพ่อศึกษาทางด้านเวทย์มนต์คาถาความขลังในวิทยาคม ลูกศิษย์รุ่นเก่ามักได้รับวัตถุมงคลหลายชนิดประเภท พระกรุ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด ธง ตระกรุด จนเป็นที่เลื่องลือในพลังพลานุภาพของวัตถุมงคล ในด้านปกป้องคุ้มครองภยันตราย โรคภัยไข้เจ็บ ค้าขายเจริญรุ่ง ในที่สุดเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2500 เวลา 01.05 น.ก็ต้องสูญเสียหลวงพ่อรุ่งไปด้วยอาการสงบ รวมอายุได้ 85 ปี

      วัตถุมงคลที่มีชื่อเสียงของหลวงพ่อรุ่งมีหลายชนิด เช่น
ตะกรุดชุด 9 ดอก, ตะกรุดโทน, ตะกรุดหน้าผากเสือ, แหวนพิรอด, เสื้อยันต์, ผ้ายันต์ รูปถ่ายและเหรียญ

     สิ่งปลูกสร้าง
 พระอุโบสถ ที่สร้างเมื่อปีพ.ศ.2485 ปัจจุบันได้รับการบูรณะแล้ว  อาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูนทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น 2 ชั้น ซ้อนกันชั้นละ 3 ตับ ช่อฟ้าใบระกา หางหงส์ หน้าบันไม้แกะสลักประดับกระจกสี ด้านหน้ามีมุขลด รองรับโครงหลังคาด้วยเสาปูนสี่เหลี่ยม ด้านข้างมีคันทวย ผนังก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว ด้านหน้ามีประตูทางเข้า 2 ประตู ซุ้มประตูทรงมณฑป ผนังตอนบนระหว่างซุ้มหน้าต่างมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยรอบอาคารเป็นระเบียงทางเดินและมีบันไดทางขึ้นทางด้านหน้าและด้านข้าง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธาน เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ และฝาผนังมีภาพจิตรกรรมที่เขียนขึ้นใหม่, พระวิหาร พระวิหาร 2 หลัง ตั้งอยู่ด้านข้างของพระอุโบสถ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2493 ลักษณะเป็นอาคารทรงไทย ก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น 2 ชั้น ซ้อนกันชั้นละ 2 ตับ มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ด้านหน้ามีมุขลด รองรับโครงหลังคาด้วยเสา 4 ต้น ด้านข้างมีชายคาปีกนก เสาหลอกและคันทวย ผนังอาคารก่ออิฐถือปูนตั้งอยู่บนฐานบัว, เจดีย์ราย ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถ จำนวน 4 องค์ เจดีย์ในเรือ 3 องค์ และด้านข้างพระวิหาร 8 องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ตั้งอยู่บนฐานบัว ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานสิงห์ และมีบัวรองรับปากระฆัง องค์ระฆังย่อมุมไม้สิบสอง ส่วนยอดเป็นบัวกลุ่มเถา ปล้องไฉนและปลียอด บางองค์ส่วนยอดชำรุดหักพัง, พระปรางค์ พระปรางค์ จำนวน 4 องค์ ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของพระอุโบสถติดกับแม่น้ำท่าจีน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงปรางค์ ก่ออิฐถือปูน ตั้งอยู่บนฐานเขียง ที่ฐานมีคำอุทิศจารึกอยู่บนแผ่นหินอ่อน ถัดขึ้นไปเป็นชุดฐานสิงห์ เรือนธาตุมีซุ้มจระนำทั้งสี่ทิศ ส่วนยอดทรงปรางค์ มีนพศูลโลหะปักอยู่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น